KOREA
วงการโทรทัศน์เกาหลีวุ่น ! KBS-SBS-MBC-YTN ฯลฯ ประท้วงหยุดงานศุกร์นี้ ต้านข้อกฏหมายสื่อสารสุดระห่ำจากรัฐบาล (2008-12-26)
The National Union of Media Workers (สหภาพแรงงานสื่อสารมวลชนแห่งชาติเกาหลี – NUMW) เตรียมนัดหยุดงานประท้วงเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป อันมีเหตุมาจาก พรรคแห่งชาติเกาหลี (Grand National Part – GNP) ได้ยื่นเรื่องในข้อกฏหมายเพื่อปรับแก้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนของเกาหลีจำนวน 7 หัวข้อ โดยสหภาพมีความเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ของ อีมยองบัก (Lee Myuk Bak) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าควบคุมอิสรภาพของสื่อมวลชนภายในประเทศทั้งหมด
สหภาพแรงงานจาก MBC ได้เปิดผนึกจดหมายร่วมกันถึงการประท้วงหยุดงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้วงการสื่อสารมวลชนของเกาหลีนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก สหภาพสถานีโทรทัศน์ MBC แจ้งให้ทราบว่าสหภาพแรงงานทุกคนจะร่วมกันหยุดงานประท้วงอย่างไม่มีกำหนด และส่งผลให้รายการโทรทัศน์บางรายการจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และจนถึงขณะนี้สำหรับงานมหกรรมเพลง และงานประกาศผลรางวัลปลายปีของ MBC นั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าสามารถจะดำเนินไปตามกำหนดเดิมได้หรือไม่
รายการวาไรตี้อย่าง We Got Married, Infinity Challenge, Golden Fishery และรายการอื่นๆ จะได้รับผลกระทบจากการนัดหยุดงานของโปรดิวเซอร์ในครั้งนี้ เว้นเสียแต่ละครประจำวันที่ควบคุมการผลิตโดย MBC ทั้งหมดจะไม่ได้รับผลกระทบ ในขณะที่ละครเรื่องอื่นๆซึ่งกำลังออกอากาศอยู่ในขณะนี้ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการประท้วงครั้งนี้เช่นเดียวกัน นั่นเป็นเพราะละครส่วนมาก จะใช้โปรดักชั่นบริษัทผู้ผลิตนอกสถานีโทรทัศน์ (เอ้าท์ซอส) ซึ่ง MBC ไม่ได้ถือครองสิทธิ์นั้นๆในทางตรง ยกตัวอย่างเช่น ละครเรื่อง East of Eden ก็จะคงมีตารางการถ่ายทำไปตามปกติเช่นเดิม ส่วนในด้านของฝ่ายข่าวนั้นจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจาก พัคเฮจิน และ คิมจูฮา สองผู้ประกาศข่าวก็จะเข้าร่วมในการประท้วงนี้ด้วย
ทางด้านต้นสำนัก MBC เปิดเผยว่าทางสถานีจะรวบรวมทีมงานที่สามารถหาได้ และจ้างพวกเขาเป็นทีมงานชั่วคราวเพื่อรับประกันว่างานประกาศผลรางวัลละครปลายปี อย่าง MBC Drama Awards ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม และงานมหกรรมเพลง MBC Music Festival ที่จะมีในวันที่ 30 ธันวาคม จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกำหนดการเดิม แต่ดูเหมือนว่างานเพลงอย่าง Music Festival นั้นเนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่ทำให้ทางสถานีอาจจะมีความยากลำบากในการหาผู้จัดที่มีความสามารถในการเนรมิตเวทีและอุปกรณ์ออกอากาศเพื่อออกอากาศได้ในเวลาอันสั้นนี้
ในขณะเดียวกันทางสถานีโทรทัศน์ KBS ที่เข้าร่วมในการประท้วงครั้งนี้เช่นกัน โดยตัวแทนกลุ่มพนักงานภายใต้กลุ่มที่มีชื่อว่า ‘KBS Employee Action to Defend Public Broadcasting (มาตราการปกป้องการออกอากาศสาธารณะจากกลุ่มพนักงาน KBS)’ กล่าวว่า "เราจะตั้งคณะกรรมการเพื่อขัดขวางกฏหมายเลวๆเกี่ยวกับการควบคุมการออกอากาศนี้ ภายใต้การดำเนินการของสหภาพ ถ้ามีการผ่านกระบวนการทางกฏหมายและประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคมนี้"
ในเอกสารเปิดผนึกพนักงานของ KBS ยังกล่าวด้วยว่า "เราได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานสื่อสารมวลชนแห่งชาติเกาหลีในการนัดประท้วงหยุดงานในครั้งนี้ และเราจะจัดตั้งกลุ่มองค์กรจากสถานีโทรทัศน์อื่นๆรวมถึงองค์กรจากฝ่ายประชาชน เพื่อคันค้านการผ่านข้อกฏหมายเลวๆทั้ง 7 ข้อนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเข้าควบคุมสื่อสารมวลชนเกาหลีทั้งระบบ"
นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์ SBS ก็แสดงเจตจำนงค์ในการร่วมประท้วงในครั้งนี้เช่นเดียวกัน จากการเปิดเผยในเอกสารกล่าวว่า สมาชิกในสหภาพทั้งหมด ยกเว้น คนทำงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับข้องกับการควบคุมเครื่องถ่ายทอดสัญญาณการออกอากาศ และ นักข่าวที่ตามเรื่องข้อกฏหมายนี้อยู่ จะรวมตัวกันหยุดงานตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีสมาชิกในสหภาพกว่า 200 คนได้ไปรวมตัวกันต่อต้านถึงการประแก้ข้อกฏหมายนี้ที่หน้าสถานีสำนักงานใหญ่ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อปักหลักร่วมกับสหภาพแรงงานสื่อมวลชนแห่งชาติเกาหลีในการต่อต้านความพยายามของรัฐสภาเกาหลีในครั้งนี้
นอกจาก 3 สถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีแล้ว ยังมีสถานีโทรทัศน์อื่นๆอย่าง YTN, EBS และ CBS ก็จะเข้าร่วมการประท้วงนี้อย่างพร้อมเพรียงอีกด้วยเช่นกัน
ในเอกสารแถลงข่าวที่ประกาศอยู่ที่หน้าสำนักงานใหญ่ของ พรรคแห่งชาติเกาหลี (Grand National Part – GNP) ที่ยออิโดเมื่อวันพุธในช่วงกลางวันที่ผ่านมานั้น สหภาพเปิดเผยว่า “เราจะต่อสู้อย่างถึงที่สุดจนกว่า ประธานาธิบดีอีมยองบัก และพรรค GNP จะถอดถอนการแก้ข้อกฏหมายเลวๆเหล่านี้ออกจากรัฐสภา และล้มเลิกแผนการเข้าควบคุมกิจการสื่อสารมวลชนจากฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด”
และในวันเดียวกันนั้น คณะกรรมาธิการการสื่อสารเกาหลี (Korea Communications Commission – KCC) ได้ตัดสินใจรับข้อกฏหมายใหม่ในบางส่วนที่พรรค GNP ยื่นเรื่องเข้ามาเพื่อผ่านการพิจารณา และถ้าข้อเสนอเหล่านี้ได้กลายมาเป็นกฏหมายที่เริ่มใช้จริง ก็จะมีการผ่อนปรนให้บริษัทขนาดยักษ์สามารถเข้าควบรวมกิจการของสถานีโทรทัศน์ในเกาหลีได้ ซึ่งนั้นจะนำผลไปสู่การเปิดช่องทางให้สำนักพิมพ์และบริษัทขนาดใหญ่ สามารถเข้าควบคุมองค์กรสื่อสารสาธารณะในเกาหลีได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมถึงยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นเสนอข้อกฏหมายหมิ่นประมาทในข้อความจากโลกอินเตอร์เน็ตอีกด้วย
ทางด้านคนใน KCC กล่าว “KCC ลงเสียงเป็นเอกฉันฑ์ในการหยิบยกข้อร่างกฏหมายจำนวน 3 ข้อ ประกอบไปด้วย กฏหมายการออกอากาศและข้อมูล, กฏหมายการสื่อสารและเครือข่าย และ กฏหมายเกี่ยวกับ IPTV” เพื่อเสนอต่อสมาพันธ์ที่มีอำนาจในด้านนี้ต่อไป
◆National Union of Mediaworkers (สหภาพแรงงานสื่อสารมวลชนแห่งชาติเกาหลี)
นักข่าวใส่ชุดดำประท้วง เริ่มตั้งแต่ 06.00 น. 26 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป